ข้อมูลทั่วไปประเทศเยอรมัน เเละ ระบบการศึกษา
ในปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนนักศึกษาทั้งหมดประมาณ 12.6 ล้านคน ที่ประเทศ มีครูอาจารย์ทั้งหมดประมาณ 780,000 คน ตามโรงเรียนสถานศึกษากว่า 52,000 แห่งในเยอรมัน
การศึกษาภาคบังคับเริ่มตั้งแต่อายุ 6-18 ปี รวมการศึกษา ภาคบังคับทั้งหมด 12 ปี ซึ่งนักเรียนจำเป็นต้อง เรียนหลักสูตรภาคบังคับแบบเต็มเวลานี้ อย่างน้อย 9 ปี (ในบางรัฐ 10 ปี) หลังจากนั้นนักเรียนสามารถเลือกเรียน หลักสูตรสายอาชีพ หรือฝึกงานซึ่งเป็นการเรียนแบบไม่เต็มเวลาได้ โรงเรียนเอกชนในเยอรมนี ไม่กี่แห่งที่ดำเนินการโดยนักสอนศาสนา
โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนรัฐบาล เรียนฟรีไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน หนังสือและตำราเรียน มักมีให้นักเรียนยืมไม่ต้องซื้อ แต่ถ้าจำเป็นต้องให้เป็นของส่วนตัว ก็จะให้ผู้ปกครองบริจาคเงินตาม กำลังทรัพย์ที่มี เมื่อนักเรียนอายุ 6 ปี จะเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาเป็นเวลา 4 ปี หลักจากจบประถมศึกษา แล้วจึงศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา แบ่งเป็น 4 ประเภทด้วยกัน
Secondary General School (Hauptschule)
เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ให้การศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไป วิชาที่สอบได้แก่ ภาษาเยอรมัน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ สังคมวิทยา ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) และวิชาแนะนำวิชาชีพ เวลาเรียน 6 ปี หลังจบนักเรียนจะได้รับใบประกาศนียบัตร เพื่อเป็นประตูสู่การศึกษา สายวิชาชีพ
Intermediate School (Realschule)
เป็นโรงเรียนที่อยู่ระหว่างโรงเรียนมัธยมศึกษา ที่ให้การศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไป (Secondary General School) กับโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เน้นวิชาการ (Grammar School) หลักสูตรส่วนใหญ่จะเน้นวิชาพื้นฐานทั่วไป หลังจบหลักสูตร 6 ปีแล้ว จะได้ประกาศนียบัตรเพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เช่น โรงเรียนอาชีวะที่ต้องเรียนเต็มเวลา ประมาณ 40% ของผู้จบโรงเรียน มัธยมจะได้ประกาศนียบัตรแบบนี้
Grammar School (Gymnasium)
เป็นการศึกษาระดับมัธยมศึกษา 9 ปี เป็นการเรียนการสอนที่เน้นวิชาการ และเมื่อเรียนในระดับ เกรด 11-13 วิธีการเรียน จะแบ่งเป็นการเลือกกลุ่มวิชา (Course) ที่ถนัด เพื่อเน้นบางสาขาวิชาโดยเฉพาะ เพื่อเตรียมตัวเข้าเรียนมหาวิทยาลัยหลังจากจบเกรด 13 แล้ว
Comprehensive School (Gesamtschule)
เป็นการผสมผสานการเรียน การสอนของโรงเรียนมัธยมทั้ง 3 ประเภท เข้า ด้วยกันภายใต้การบริหารหนึ่งเดียว นักเรียนเริ่มเรียนตั้งแต่เกรด 5 ถึงเกรด 10 และจะเริ่มเรียนวิชาเฉพาะทางในระดับเกรด 7 บางกลุ่มวิชา จะมีการแบ่งการเรียนออกเป็นกว่า 11 ระดับ แล้วแต่ความยากง่าย
ข้อมูลทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับการศึกษาระดับสูง
วิทยาศาสตร์ การวิจัยค้นคว้า และการศึกษา ในเยอรมัน มีการสืบทอด ต่อเนื่องกันมายาวนาน สถานศึกษาหลายแห่งในเยอรมัน มีประวัติศาสตร์ ย้อนหลังไปกว่า หลายศตวรรษ มหาวิทยาลัย ที่เก่าแก่ที่สุดในเยอรมัน อยู่ที่เมืองไฮเดนแบร์ก (Heidelberg) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1386 ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
มหาวิทยาลัยในเยอรมันเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์ หลังสงครามโลกครั้งที่สองเยอรมัน หันมาพัฒนาการศึกษา และการวิจัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรวมประเทศ มีมหาวิทยาลัยเกือบ 120 แห่ง และสถาบันเทียบเท่า มหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเทคนิค มากกว่า 200 แห่งกระจายทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังมีสถาบันการศึกษาชั้นสูง เช่น มหาวิทยาลัยเน้นภาคปฏิบัติ (Fachhochschule) มหาวิทยาลัยศิลปะการดนตรีและภาพยนตร์ เป็นต้น
สถาบันการศึกษาระดับสูงส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาล มีไม่กี่แห่งที่ ดำเนินการโดยนักสอนศาสนาคริสต์ และกองทุนเอกชน ซึ่งเป็นสถานบันที่สอน ด้านเทคโนโลยีกฎหมาย และบริหารธุรกิจ สถาบันการศึกษาของรัฐบาลเปิดรับนักศึกษาทุกเชื้อชาติเรียนฟรี ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แม้กระทั่งนักศึกษานานาชาติ ก็ได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียน โดยรัฐบาลเยอรมันจากจำนวนนักศึกษา ทั้งหมดเกือบ 2 ล้านคน
ในสถาบันอุดมศึกษาในเยอรมัน มีนักศึกษาประมาณ 140,000 คน ที่มาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก นักศึกษาต่างชาติประมาณ 9,400 กว่าคนกำลังศึกษาในระดับปริญญาสาขาต่าง ๆ ประมาณ 1,600 คน ศึกษาในหลักสูตรพิเศษเฉพาะทาง และในระดับปริญญาเอกมีประมาณ 2,700 คน
สำหรับหลักสูตรนานาชาติ ที่นักศึกษาสนใจเรียนเป็น พิเศษมีมากกว่า 200 หลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอังกฤษบางส่วน หรือสอนเป็นภาษาอังกฤษ ตลอดทั้งหลักสูตร และมีโครงสร้างตามระบบการเรียนการสอน ของมหาวิทยาลัยอังกฤษ – อเมริกัน
ประเภทของสถาบันศึกษา
มหาวิทยาลัย
ผู้ที่บทบาทสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ก็คือ Willhelm von Humboldt (มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1767 – 1835) เขาได้เน้นความสำคัญของหลักการศึกษาที่สำคัญคือ “การแยกกันไม่ออกระหว่างการสอนและการวิจัย” ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยของเยอรมันก็ได้ยึดถือหลักการนี้ไว้ตลอด ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงไม่ใช้สถาบันเพื่อการศึกษาและฝึกอบรมเท่านั้น แต่ยังเป็นสถาบันที่ทำการวิจัยค้นคว้า ทั้งในลักษณะที่เป็นการวิจัยประยุกต์ และงานด้านวิชาการล้วน ๆ มหาวิทยาลัยมอบปริญญาบัตร ทั้งระดับปริญญาโท (Diplom หรือ Magiste Artium) และระดับปริญญาเอก และยังการับรองความสามารถในการสอน (Habilitation) ของผู้ขอตำแหน่งศาสตราจารย์ ซึ่งต้องผ่านการเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมาแล้ว และการเสนอผลงานทางวิชาการก่อนจะมีการสอบทักษะต่าง ๆ อย่างเข้มงวดเพื่อแต่งตั้งเป็นศาสตร์จารย์ระยะหลังนี้ ได้มีหลายมหาวิทยาลัยมอบปริญญาบัตร ซึ่งเทียบเท่ากับปริญญาตรี และโทแบบสากลทั่ว ๆ ไป ซึ่งเปิดโอกาสให้จบการศึกษา ปริญญาตรีและโทง่ายขึ้น แขนงวิชาที่สอนในมหาวิทยาลัยที่สำคัญคือ แพทย์ศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และวนศาสตร์ ในแต่ละสาขาวิชา ยังแบ่งสาขาย่อยออกไป หลากหลาย เพื่อเน้นความชำนาญเฉพาะทาง
มหาวิทยาลัยเทคนิค (Technical Universities)
เดิมนั้นสถาบันการศึกษาที่เรียกว่า มหาวิทยาลัยเทคนิค ให้การศึกษาเฉพาะด้านวิศวกรรม แต่ต่อมาได้วิวัฒนาการแขนงวิชา ที่สอนไปยังด้านอื่น ๆ เช่น มนุษย์ศาสตร์ อย่างไรก็ดีก็ยังเน้นหนัก ที่ด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเน้นภาคปฏิบัติ (University of Applied Science/Fachhochschule)
มหาวิทยาลัยประเภทนี้เป็นที่นิยมของนักศึกษาต่างชาติ เป็นสถาบันที่เน้น การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้วิธีการเรียนการสอนจัดทำ เพื่อให้โอกาส จบปริญญาเร็วกว่ามหาวิทยาลัยแบบธรรมดา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะด้อยคุณภาพ เพราะว่ามหาวิทยาลัยจะเน้นทั้งการสอน และการวิจัย การวิจัยจะเน้นการนำผลไปปฏิบัติได้ โดยจะมีการติดต่อร่วมมือใกล้ชิด กับภาคอุตสาหกรรมของเอกชน หลักสูตรการศึกษา มีแบบที่มอบ ปริญญาของเยอรมันที่เรียกว่า Diplom หรือปริญญาตรี และปริญญาโทแบบสากล
มหาวิทยาลัยศิลปะและการดนตรี
มหาวิทยาลัยศิลปะและการดนตรี มีจุดประสงค์ เพื่อผลิตผู้จะออกไปยึดอาชีพศิลปะ และการดนตรี รวมทั้งเพื่อเป็นอาจารย์ใน 2 แขนงนี้ ระเบียบการรับนักศึกษาวิธีการศึกษา และตารางการสอน จะแตกต่างไปจาก มหาวิทยาลัยทั่วไป
สถาบันอื่น ๆ ที่มีฐานะเทียบท่ามหาวิทยาลัย
นอกจากสถาบันศึกษาแบบต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว เยอรมันยังมีสถาบันฝึกหัดครู ซึ่งให้ศึกษาอบรมผู้ ที่จะออกไปดำเนินอาชีพครู ในโรงเรียนระดับต่าง ๆ สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ที่น่าสนใจ อีกแบบหนึ่ง อีกมหาวิทยาลัยที่เรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า Gesamthochschulen ซึ่งอาจจะแปลว่ามหาวิทยาลัยแบบผสม (Comprehensive University) ซึ่งเป็นสถาบันซึ่งเกิดจากการรวมตัวกัน ของมหาวิทยาลัย สถาบันฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยเน้นภาคปฏิบัติ และมหาวิทยาลัยศิลปะ และการดนตรี โดยรวมเข้าเป็นสถาบันเดียวกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยรวมแบบนี้จะทำให้นักศึกษามีโอกาสเปลี่ยนสาขาที่ศึกษา หรือเปลี่ยนปริญญาที่จะจบได้ในระหว่างทีศึกษาอยู่
นอกจากที่กล่าวมาแล้วนี้ เยอรมันยังมี สถาบันการศึกษาเพียง สถาบันการศึกษา ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเน้นให้การศึกษาเพียง บางสาขาเท่านั้น เช่น สถาบันแพทย์ศาสตร์ และสัตว์แพทย์ที่ฮันโนเวอร์ หรือมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ที่เมืองลูเบค มหาวิทยาลัยพละศึกษา ที่เมืองโคโลญจ์ มหาวิทยาลัยศิลปะ และการสื่อสารที่เมืองมิวนิค มหาวิทยาลัยการภาพยนตร์ทั้งที่เมืองมิวนิค มหาวิทยาลัยการภาพยนตร์ ทั้งที่เมืองมิวนิค เมืองพอทสดัม-บาเบลเบิก และที่เมืองลุดวิกส์บวร์ สถาบันอบรมการบริหารแก่ข้าราชการพลเรือนเยอรมัน ที่เมืองสเปเยอร์ ซึ่งที่สถาบันนี้จะมีข้าราชการจากประเทศกำลังพัฒนาเข้าศึกษาด้วย และยังมีมหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยที่ฝ่ายศาสนาศาสนาตั้งขึ้น ซึ่งมักจะเป็นมหาวิทยาลัยไม่ใหญ่นัก
คุณภาพของมหาวิทยาลัยและสาขาวิชา
คุณภาพของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเยอรมันไม่แตกต่างกันมาก เหมือนบางประเทศ นักศึกษาจะยืมหนังสือจากห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ที่ตนไม่ได้เรียนได้ โดยระบบการยืมข้ามสถาบัน ความแตกต่างในคุณภาพของแต่ละคณะ และแต่ละสาขาภายใน มหาวิทยาลัย อาจจะเกิดจากความเชี่ยวชาญ ของอาจารย์ในคณะเอง ซึ่งไม่ได้เป็นผลจากมหาวิทยาลัยโดยรวม เพราะฉะนั้นภายในมหาวิทยาลัย เดียวกัน อาจจะมีคณะที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ไปทั่วโลก และบางคณะที่ไม่มีชื่อเสียงมากนัก การจัดอันดับคุณภาพ ของแต่ละสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาจจะดูได้จาก Website 2 แห่งคือ
- www.stern.de/campus.kurriere/uniwett/ranking (ภาษาเยอรมัน)
- www.spiegel.de/ppiegel/0,1518,1804,00.html (ภาษาเยอรมัน)
ปริญญาบัตร
ปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยในเยอรมันในปัจจุบันมีดังนี้
- ปริญญาโท หรือ Master of Arts สำหรับแขนงศิลปะ และมนุษยศาสตร์
- ปริญญาโท หรือ Diplom สำหรับสาขาวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ และแขนงวิชาอื่น ๆ ที่สอนใน มหาวิทยาลัยเน้นภาคปฏิบัติ
- ปริญญาโทของรัฐหรือ State Exam สำหรับสาขาคุรุศาสตร์ แพทยศาสตร์ กฎหมาย และเภสัชกรรมศาสตร์
- ปริญญาเอก (Doctorate)
สำหรับ 3 แบบแรกคือ Master of Arts, Diplom และ State Exam นั้นถือได้ว่ามีระดับที่เท่ากัน เพราะฉะนั้นระบบ ปริญญาบัตรของเยอรมันจึงต่างจากระบบที่ใช้เรียกปริญญาตรี โท และ เอก ทั่วไปเรียกว่าเป็นแบบเยอรมันแท้ ๆ ส่วนมหาวิทยาลัยของเยอรมัน ที่ใช้หลักสูตรนานาชาติ ที่เรียกว่า International Degree Program นั้นจะมอบปริญญาตรี และ โท เหมือนกับในประเทศอื่น ๆ
คุณสมบัติของผู้สมัครและกระบวนการในการรับสมัคร
ประกาศนียบัตรการศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ของประเทศไทย (ม.6 หรือ ปวช.) ยังไม่เทียบเท่ากับของเยอรมัน สำหรับการเข้าเรียนต่อใน ระดับมหาวิทยาลัย ผู้สมัคร จึงต้องผ่านการสอบประเมินความรู้ (Assessment test) ซึ่งสอบเป็นภาษาเยอรมันก่อน ผู้จะเข้าสอบอาจจะสมัครเข้าเรียน เพื่อเตรียมตัวสอบประเมินความรู้ ในสถาบันที่เรียกว่า Studienkolleg ได้แต่จำเป็นต้องมีพื้นความรู้ภาษาเยอรมันก่อนสมัครเข้าเรียนด้วย ส่วนผู้สมัครที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแบบอื่น ๆ จะต้องมีการพิจารณาเป็นรายบุคคลและขึ้นกับมหาวิทยาลัยที่ตนสมัคร
สำหรับผู้จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยของไทย ไม่จำเป็นต้อง สอบประเมินความรู้ ทางมหาวิทยาลัย หรือคณะที่จะเข้าศึกษา จะมีคณะกรรมการเพื่อเทียบวิชาต่าง ๆ ที่เรียนมาแล้วกับ วิชาที่สอนอยู่ใน มหาวิทยาเยอรมัน วิชาใดที่เทียบกันได้ก็จะ ได้รับการเทียบเครดิตให้ บางแห่งจะเทียบปริญญาตรีของไทยเท่ากับ 2 ปี ของการศึกษา ระดับมหาวิทยาลัยของเยอรมันหรือที่เรียกว่า Pre Diplom สำหรับนักศึกษาที่จะเข้าเรียนหลักสูตรนานาชาติ จะสามารถเข้าศึกษา ต่อในระดับปริญญาโทได้เลย
โดยปกติแล้วนักเรียนไทย ที่ต้องการสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเยอรมัน จะสมัครได้ที่สำนักงานนักศึกษาต่างชาติ (Foreign Student Office) ของแต่ละมหาวิทยาลัย นักเรียนที่มีปัญหาต้องการข้อมูล เกี่ยวกับเงื่อนไขการรับสมัคร และการพิจารณารับรองความรู้ สามารถสอบถามได้โดยตรง ในบางสาขาวิชา ซึ่งจำนวนผู้สมัคร มีมากเกินกว่าทางมหาวิทยาลัย จะรับได้ทั้งหมดจึงต้องผ่านกระบวน การคัดเลือก เช่น สาขาแพทยศาสตร์ การสมัครจะต้องสมัครผ่าน ศูนย์รับสมัครส่วนกลางของประเทศ (Central Admission Office)
คุณสมบัติทางภาษา
ภาษาที่ใช้สอนคือ ภาษาเยอรมันผู้จะเข้าศึกษา จะต้องผ่านการทดสอบความรู้ภาษาเยอรมันซึ่งเรียกว่า DSH ซึ่งทางมหาวิยาลัยในเยอรมันเป็นผู้จัดสอบ หรือสามารถขอสอบ TestDaF (เทียบเท่ากับ TOEFL ของภาษาอังกฤษ) ในประเทศบ้านเกิดได้
ข้อยกเว้นของผู้ที่ไม่ต้องสอบ DSH มี 3 กลุ่ม คือ ผู้ที่จบโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในประเทศเยอรมัน ผู้ที่จบโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายระบบเยอรมัน หรือเทียบเท่าในต่างประเทศ และผู้ที่มีประกาศนียบัตรระดับสูงแสดงความรู้ภาษาเยอรมัน (ZOP) จากสถาบันเกอเธ่ (Goethe Insititut)
มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ จะเปิดอบรมการเตรียมตัวสอบ DSH แต่ผู้จะ เข้าโปรแกรมนี้ได้จะต้อง มีพื้นความรู้ภาษาเยอรมันมาก่อนแล้ว ซึ่งจะต้องมี พื้นฐานมากน้อยเพียงใดนั้น สอบถามได้ที่สำนักงานนักศึกษาต่างชาติ ของแต่ละมหาวิทยาลัยนักเรียนไทย ที่สนใจจะไปเรียนเยอรมัน ควรจะเรียนภาษาเยอรมัน จากสถาบันในประเทศไทยเสียก่อน เช่น สถาบันเกอเธ่ รายละเอียดดูได้จาก เว็บไซต์ www.goethe.de/bangkok นักเรียนจะสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับประกาศนียบัตรที่เทียบเท่า DSH หรือเวลา และสถานที่สอบ TesDaf ในประเทศไทยจากสถาบันนี้
หลักสูตรนานาชาติ (International Degree Program)
เป็นหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ ผู้เข้าศึกษาในหลักสูตรนี้ จะต้องรู้ภาษาอังกฤษ เช่น ผลคะแนน TOEFL 550 สำหรับการสอบข้อเขียน และ 213 สำหรับการสอบโดยใช้คอมพิวเตอร์ หรืออาจจะสอบ IELTS ที่ Band 6 ผู้เข้าศึกษาในหลักสูตร นานาชาติส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องมี ความรู้ภาษาเยอรมัน แต่ในบางสาขาวิชาอาจกำหนดให้มีด้วย สถาบันที่เปิดหลักสูตรนานาชาติ จะมีการสอนภาษาเยอรมันเสริมด้วย เพื่อนักศึกษาทุกคนจะได้เพิ่มพูนความรู้ภาษาเยอรมัน และเรียนรู้วัฒนธรรม ของเยอรมันควบคู่ไปกับการศึกษา
การเปิดภาคเรียน
โดยทั่วไปแล้วมหาวิทยาลัยในเยอรมัน แบ่งช่วยเวลาของการศึกษาออกเป็น 2 ภาคเรียน คือ
ภาคเรียนฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคม – เดือนมีนาคม
ภาคเรียนฤดูร้อน ระหว่างเดือนเมษายน – เดือนกันยายน
ค่าใช้จ่าย
- ค่าเล่าเรียน
เนื่องจากสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่สนับสนุนโดยรัฐ สถาบันการศึกษาจึงไม่เก็บค่าเล่าเรียน รวมทั้งจากนักศึกษาต่างชาติด้วย แต่อาจมีบางสาขาวิชา ของมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีการเรียกเก็บค่าเรียน ซึ่งจะมีตั้งแต่ภาคเรียนละ 10,000 บาท ไปจนถึง 180,000 บาท สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนค่าเล่าเรียนอาจจะสูงถึง 300,000 บาทต่อภาคเรียน ในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับค่าเล่าเรียนนั้น มหาวิยาลัยเยอรมันเก็บค่าธรรมเนียม (Administraive Fee) ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนัก และอาจจะรวมค่าตั๋วรถโดยสารประจำทางด้วย ค่าธรรมเนียมนี้จะประมาณ 1,000 – 4,000 บาท ต่อภาคเรียน ซึ่งอาจจะสอบถามได้จากมหาวิทยาลัยโดยตรง - ค่าครองชีพ
ค่าครองชีพของนักศึกษาต่างชาติในเยอรมัน จะเป็นคนละประมาณ 22,000 – 25,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะรวมค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าประกันสุขภาพ ค่าหนังสือและค่าพักผ่อนหย่อนใจ นักศึกษาทุกคนต้องมีประกันสุขภาพ ซึ่งมีอัตราพิเศษสำหรับนักศึกษาต่างชาติ สำหรับผู้มีอายุเกิน 30 ปี จะอยู่ในโครงการประกันแบบอื่น ส่วนผู้ที่มีอาการป่วยโรคเรื้อรับบางอย่าง ก็จะต้องอยู่โครงการประกันสุขภาพ ที่พิเศษแตกต่างออกไป
ตัวอย่างค่าใช้จ่าย
ค่าเช่าหอพัก 175 ยูโรต่อเดือน
ค่าเช่าอพาร์ทเมนต์ห้องเดี่ยว 230-300 ยูโรต่อเดือน
ค่าประกันสุขภาพ(ผู้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี) 60 ยูโรต่อเดือน
ค่าอาหารกลางวัน 3.00 ยูโรต่อมื้อ
เบียร์ (ในร้านอาหาร – 0.2 ลิตร) 1.40 ยูโรต่อขวด
นม 0.60 ยูโรต่อลิตร
ค่าเข้าชมภาพยนตร์ 7.00 ยูโร
เฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อคน
เดือนละ 600 – 750 ยูโร
ปีละ 7,200 – 9, 000 ยูโร
ข้อมูลทั่วไปจาก DAAD